รวม 6 ช่องโหว่สำคัญ ฉุดรั้งแก้ปัญหานักซิ่งกวนเมือง

เด็กแว้น นั้นเปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้านเรือน สังคมไทยเปรียบดั่งบ้าน หากเสาเข็มไม่มั่นคงเพียงพอ บ้านจะเป็นบ้านที่แข็งแกร่งอยู่ยั้งยืนนานได้อย่างไร...

ทว่า การแก้ปัญหาเด็กแว้น ยังมีช่องโหว่สำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้เหล่านักบิดรุ่นเยาว์ หรือ เด็กแว้นหมดสิ้นไปจากสังคม มิหนำซ้ำยังออกลูกออกหลานสานต่อพฤติกรรมผิดๆ จากแว้นรุ่นหนึ่งที่ก้าวออกจากวงการ ก็ยังคงมีแว้นรุ่นต่อไปมาแตะมือ บิดรถซ่า แต่งท่อดัง กวนเมืองกันต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมช่องโหว่สำคัญ 6 ประการ สะท้อนจุดมืดที่สกัดกั้นไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาได้อย่างลุล่วงและเบ็ด เสร็จเด็ดขาดเสียที โดยช่องโหว่สำคัญ มีดังนี้...

ช่องโหว่ที่ 1 : โซเชียลฯ ช่องทางนัดรวมพลสายหมอบ ขาแว้น
โลก โซเชียล นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่เกื้อหนุนให้เด็กแว้นนัดรวมพล นัดดวลรถซิ่ง รวมไปถึงเปิดช่องให้มีการตั้งกลุ่มก้อนต่างๆ เพื่อต่อยอดซื้อขายอุปกรณ์ แจ้งข่าวสารเฉพาะกลุ่ม และโชว์สิ่งผิดๆให้กับผู้เข้าร่วมกลุ่มดู จนในที่สุดนำมาสู่การประพฤติปฏิบัติตามจากผู้ร่วมกลุ่ม

พรชัย รุจิประภา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทีมข่าวติดต่อไปยัง นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เพื่อร่วมสะท้อนกลวิธีอุดช่องโหว่ดังกล่าว ซึ่งทีมข่าวได้รับคำตอบจากนายพรชัย ว่า หากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งเบาะแสเข้ามาให้แก่กระทรวงไอซีทีถึงการนัดรวมตัว ของเด็กแว้น การกระทำผิดกฎหมาย หรือการพูดคุยต่างๆ ที่นำมาสู่ปัญหาของสังคม ทางกระทรวงไอซีทีจึงจะสามารถเข้าไปติดตามตรวจสอบได้ต่อไป

ส่วนที่เป็นข้อความส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทางกระทรวงไอซีทีจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นอกเสียจากจะได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียก่อน เพราะฉะนั้นทางแก้ที่ถึงลูกถึงคน คือ รัฐควรออกกฎหมายที่เอื้อให้กระทรวงไอซีทีมีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อความ ส่วนบุคคลที่มีความสุ่มเสี่ยง อันนำมาสู่ปัญหาร้ายแรง หรือปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข

โดยเบื้องต้นทางกระทรวงสามารถเข้าไปตรวจสอบกลุ่มหรือเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ที่เปิดสาธารณะได้ หากพบความผิดปกติจะดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมกันบูรณาการแก้ปัญหาต่อไป

ช่องโหว่ที่ 2 : ระเบียบจราจรหละหลวม ใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด เปิดทางแว้นซิ่งสนุก
ด้วย ความที่การบังคับใช้กฎหมายจราจรของประเทศไทยยังมีความไม่เคร่งครัดเพียงพอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายคนยังปล่อยปละละเลยให้เกิดการติดสินบน จึงส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยใช้รถจักรยานยนต์แข่งรถในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีร้านดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์ ร้านขายอะไหล่รถจักรยานยนต์สำหรับแต่งซิ่งโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้มาตรฐาน มอก.ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

ทีมข่าวต่อสายตรงถึงแม่ทัพใหญ่ปราบเด็กแว้น พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.ท.ประวุฒิ ยืนยันชัดเจนว่า จราจรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อปัญหาเด็กแว้นเลย แต่ได้รับผลพวงจากมูลเหตุสำคัญต่อไปนี้ 1. การแข่งรถที่เหล่าวัยรุ่นมักจะเลือกช่วงเวลากลางคืนในการแข่งขัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะสามารถตั้งด่านได้ทุกถนน 2. ไม่มีกฎหมายควบคุมร้านแต่งรถ ใครอยากทำอะไรก็ทำ อยากแต่งอะไรก็แต่ง ซึ่งทางตนก็ได้เสนอให้ใช้มาตรา 44 จากทะเบียนร้านทั้งหมด หากร้านใดไม่มีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ทันที

“ณ ขณะนี้ ผมได้จัดกำลังคนไว้เพื่อแก้ไขเรื่องเด็กแว้นโดยเฉพาะ ให้กองบังคับการละ 50 นาย ตั้งด่าน 5-6 จุด ทุกวันรอบ กทม. โดยตรึงกำลังทุกวัน เป็นมาตรการระยะยาว ซึ่งสังเกตได้เลยว่า ช่วงนี้แทบจะไม่พบเด็กแว้นเลย และการจับเด็กแว้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งถือว่าจับยากมาก เพราะด้วยความเร็วรถ อีกทั้ง ถ้าจับมาแล้ว ก็ไม่ใช่โทษหนักอะไร หากเด็กเหล่านี้เป็นอะไรไป เราต้องรับผิดชอบ และเวลาหนี เด็กพวกนี้หนีอย่างไม่คิดชีวิตเลย เพราะบางทีตำรวจนำกำลังไป 10-20 นาย จะไปจับเด็กแว้น 200-300 คนอย่างไรไหว ถ้าจะต้องระดมกำลังตำรวจทั้งหมดไปจับเรื่องพวกนี้อย่างเดียว โจรขโมยเต็มบ้านเต็มเมืองแน่” พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ พูดเสียงดังจริงจัง

ช่องโหว่ที่ 3 : แว้นหัวใสไม่กลัวยึดรถ เจ้าของรถคือไฟแนนซ์ รอสักพักแนนซ์เอาคืนให้
เมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ควบคุมตัวเด็กแว้นไว้ได้ ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ทางตำรวจจะตรวจยึดหรืออายัดรถจักรยานยนต์แต่งซิ่งไว้ชั่วคราว เพื่อนำไปตรวจสอบ โดยกรณีดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่คือ หากทรัพย์สินที่ยึดมานั้นเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่ไม่มีส่วนรู้เห็นในการ กระทำความผิด จะสามารถขอคืนได้ ซึ่งส่วนใหญ่รถเหล่านี้ยังอยู่ในกระบวนการเช่าซื้อหรือยังติดไฟแนนซ์ เพราะฉะนั้นจึงยังเป็นขื่อของบริษัท และบริษัทไม่ได้รับรู้ต่อการกระทำผิดอยู่แล้ว ต่อมาบริษัทก็จะดำเนินการไปเอารถคืนให้ลูกค้ากลับไปใช้งานดังเดิม ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้นจึงเป็นที่มาให้เด็กแว้นไม่รู้จักหวั่นกลัวว่าจะโดนยึดรถ

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ทีมข่าวติดต่อไปยัง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือบุคคลที่สังคมรู้จักกันในนาม ครูหยุย หนึ่งในสมาชิก สนช. ที่ทุ่มเทการทำงานทั้งชีวิตให้แก่เด็ก และในฐานะผู้มีอำนาจในการยกมือผ่านร่างกฎหมาย มองทางออกของเรื่องนี้ว่า หากจะแก้กฎหมาย เพื่อมาอุดช่องโหว่ในส่วนนี้คงจะไม่ทัน โดยนับจากนี้ทางรัฐบาลจะแก้ปัญหาเด็กแว้น ผ่านมาตรา 44 โดยเริ่มแก้ปัญหานี้จากการที่ตรวจสอบดูเสียก่อนว่า รถที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดมานั้น เป็นรถของบริษัทอะไร พร้อมกับบันทึกประวัติของรถคนนี้เอาไว้ และเมื่อเกิดกรณีที่ยึดรถมาแล้ว แต่บริษัทกลับเดินทางมาเอาออกให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บริษัทจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน โดยถือว่ารู้เห็นเป็นใจ และจะต้องเรียกตัวบริษัทนั้นๆ มาคุยให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

“ประเทศเราปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้มานาน ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย เด็กคิดว่าโดนควบคุมตัวพักเดียว เดี๋ยวก็หลุดออกมา ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราต้องมีความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย ผิดต้องจับทันที ถ้ากฎหมายบอกว่าให้ยึดรถก็ต้องยึดรถ ต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า การที่คุณออกมาขับรถซิ่ง มันทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน” ครูหยุย ติติงด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ช่องโหว่ที่ 4 : จับแว้นได้นับร้อยชีวิต แต่อัยการส่งฟ้องไม่ทัน แว้นไม่เข็ด เหิมซิ่งอีก
นายศรี นรา ไกรนรา ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มองเห็นจุดโหว่ของการแก้ปัญหาเด็กแว้น โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา หลายต่อหลายคนคงอาจจะได้ยินข่าวจับเด็กแว้นได้นับร้อยคน แต่สิ่งที่น่าสนใจเหนือกว่าการจับเด็กแว้นมาได้ก็คือ อัยการส่งฟ้องคดีเด็กแว้นไม่ทัน ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่วโมง จึงส่งผลให้เด็กแว้นนับร้อยคนได้รับการปล่อยตัว และไม่ต้องวางเงินประกันคนละ 3 หมื่นบาท มิหนำซ้ำยังเป็นผลให้เด็กแว้นไม่เกรงกลัวกฎหมายและกล้าออกมาขับรถกวนเมือง อีก

จับกุมเด็กซิ่ง

ขณะที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจได้พูดคุยกับ นายสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว ได้ใจความสำคัญว่า ในส่วนของเรื่องนี้เป็นอำนาจโดยตรงของอัยการศาลแขวง ซึ่งตนคาดว่าทางอัยการศาลแขวงนั้นมีเหตุผลเพียงพอ โดยพิจารณาถึงองค์ประกอบโดยรวมเป็นอย่างดีแล้ว และในกรณีของเด็กแว้น มีความจำเป็นที่จะต้องแยกระหว่างกรณีของเด็กและผู้ใหญ่เสียก่อน โดยเด็กในที่นี้หมายความถึง เด็กที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี แต่ในส่วนที่ฟ้องไม่ทันคือ ผู้ที่มีอายุเกินและเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงไม่อยู่ในอำนาจ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

โดยตามกฎหมาย คดีเด็กและเยาวชนนั้น จะต้องส่งเรื่องให้แก่ศาลตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง หากศาลเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมเด็กคนนั้นๆ ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องส่งไปที่สถานพินิจฯ หรือจะให้พ่อแม่รับกลับไป ศาลก็สามารถสั่งการได้ แต่ถึงกระนั้น ก็จะมีการวางเงื่อนไขและข้อกำหนดอื่นๆให้พ่อแม่อบรมดูแลเด็กต่อไป

ในส่วนของเด็กนั้น สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี โดยพิจารณาจาก 1. การรวมตัวของเด็กมีความผิดกฎหมายแล้วหรือไม่ เช่น เด็กขับขี่รถจักรยานยนต์ที่นำมาสู่ความเดือดร้อน กีดขวางทางจราจร เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้จะสามารถดำเนินคดีได้ 2. การรวมตัวของเด็ก ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนใดๆ แต่อาจจะมองได้ว่าเด็กวางตัวไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มว่าจะออกไปขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อกวนบนท้องถนน

โดยในกรณีเช่นนี้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จะถือว่าเด็กเหล่านี้มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม หรือในภาษากฎหมายเรียกว่า เด็กที่มีความประพฤติเสี่ยงในการกระทำความผิด เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่า หากเด็กกระทำความผิดจะต้องนำตัวไปให้ศาล และส่งสถานพินิจฯ ต่อไป หรือส่งให้พ่อแม่ แต่คดียังต้องดำเนินอยู่ แต่ในกรณีที่เด็กยังไม่มีการกระทำความผิด แต่มีแนวโน้มที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนอื่นได้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก สามารถที่จะเอาเด็กกลุ่มนี้มาคุ้มครองดูแล โดยกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กสามารถเข้าไปดูแลตรวจสอบว่า เด็กเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน พ่อแม่คือผู้ใด ทำไมถึงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น ต่อมาก็จะเข้าสู่กระบวนการเรียกพ่อแม่มาพูดคุย เพื่อหาแนวทางในการดูแลเด็กต่อไป

เจ้าหน้าที่ดูแลปราบปรามปัญหาเด็กแว้นอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ พนักงานคุ้มครองเด็ก มีอำนาจในการวางข้อกำหนดตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก มาตรา 44 ให้แก่พ่อแม่ โดยระบุว่า หากเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำความผิด พนักงานคุ้มครองเด็กสามารถเรียกพ่อแม่มาทำข้อตกลงในการดูแลเด็ก ซึ่งแนวทางนี้เป็นเสมือนการดึงพ่อแม่ให้เข้ามาดูแลอบรมในตัวบุตรมากขึ้น โดย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้ระบุแนวทางให้พ่อแม่ไว้อย่างชัดเจนว่า 1. พ่อแม่จะต้องดูแลเด็กไม่ให้ออกเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน โดยที่ไม่มีผู้ปกครองไปด้วย 2. ห้ามไม่ให้เด็กเข้าไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ผับ บาร์ 3. พ่อแม่ต้องดูแลเด็กไม่ให้ไปคบค้าสมาคมกับผู้ที่มีโอกาสจะไปก่อความเสียหาย ได้ 4. พ่อแม่ต้องจัดหากิจกรรมเพื่อส่งเสริมเด็กในแง่ของคุณธรรมและจริยธรรม เช่น ไปเข้าค่ายอบรมทำกิจกรรม

"ในกรณีที่เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี และไม่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลนั้น บางทีพนักงานสอบสวนเล็งเห็นว่า เด็กไม่ได้กระทำความผิด จึงแค่เรียกพ่อแม่มาลงบันทึกประจำวัน พร้อมกับว่ากล่าวตักเตือนเล็กๆ น้อยๆ และก็ปล่อยไป แค่นี้ยังไม่เพียงพอ จึงสมควรที่จะหยิบใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 44 มาใช้ให้เกิดประโยน์สูงสุด" อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว แสดงทรรศนะ

ช่องโหว่ที่ 5 : เดิมพันซิ่งสูง ตำรวจไม่รู้ไม่เห็น เป็นไปได้หรือ?
เด็ก แว้นจากสถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา พูดถึงมุมมืดอีกด้านหนึ่งของวงการนักซิ่งว่า จากการพูดคุยกับเด็กแว้นที่ถูกจับกุมตัวมานั้น จะพบว่า ปัจจุบันเหล่าแก๊งซิ่งป่วนเมือง แตกไลน์ขยับขยายงานป่วนเมืองไปถึงการเล่นพนันเดิมพันขันต่อ ไม่ว่าจะเป็นการพนันด้วยรถจักรยานยนต์ การพนันด้วยเงิน ซึ่งในส่วนของพนันเงินนั้น มีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงแสนบาท และเป็นข้อน่าสังเกตที่ว่า หากเป็นเกมพนันที่มีเงินเดิมพันสูงลิ่วเป็นหลักแสน ร้านแต่งรถต่างๆ ส่งรถเข้าร่วมกันคึกคัก และใช้ถนนสาธารณะในการแข่งขัน ครั้งนั้นๆ จะไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตั้งด่านจับกุมแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ปิดถนนแข่งกันครึ่งค่อนคืน

ทีมข่าวต่อสายตรงถึง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดในวงการมืด เขามองว่า การพนันทุกชนิดย่อมมีตำรวจเข้าไปมีส่วนรับรู้ ซึ่งการพนันของบรรดาเด็กแว้น จะเป็นการพนันเพื่อเงินเพื่อรถ การแข่งขันกันย่อมจะต้องใช้พื้นที่สาธารณะหลายกิโลเมตร พร้อมกับมีผู้ร่วมชมอีกหลายร้อยคน หากถามว่าตำรวจรับรู้หรือไม่ ตำรวจต้องรู้อยู่แล้ว

ปราบปรามแว๊นซ่า

โดยลักษณะแข่งรถของเด็กแว้นเป็นไป 3 ลักษณะนี้ 1. ตำรวจจะต้องมีสาย คือ สายจากพวกเด็กแว้นด้วยกันเอง 2. พื้นที่ในการแข่งก็ไม่ใช่พื้นที่คับแคบ มิหนำซ้ำยังใช้ถนนหลวง 3. มีคนร่วมชมการแข่งขันรถซิ่งเป็นร้อย ดังนั้น จึงยากที่ตำรวจจะปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นได้ หากเห็นว่าคนไทยทุกคนมีสายเลือดการพนัน ถ้ามีความคิดแบบนั้นแล้วการปราบปรามการพนันก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามสามารถทำได้เท่าที่กำลังตำรวจจะเอื้ออำนวยและไม่เดือดร้อนมาก เกินไป แต่ในกรณีที่มีรถกระบะมาปิดถนน ตำรวจต้องทราบ ส่วนกรณีที่มีการแข่งกันในหมู่กันเองก็ทำเท่าที่ทำได้ กำลังพล งบประมาณอาจไม่เพียงพอ และสามารถจับได้เป็นครั้งคราว เพราะนี่ไม่ใช่เป็นปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงเหมือนกับการฆ่า ปล้น จี้ ซึ่งตำรวจมีเรื่องอาชญากรรมอื่นๆ ร้ายแรงกว่า

ยึดรถจักรยานยนต์

ช่องโหว่ที่ 6 : สถาบันครอบครัวอ่อนแอ ดูแลลูกหลานหย่อนยาน
ครู หยุย หนึ่งในสมาชิก สนช. มองว่า อีกหนึ่งต้นทางของปัญหาเด็กแว้น นั่นก็คือ สถาบันครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เปราะบาง พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดู ยิ่งเสี่ยงต่อการที่เด็กจะหันเหไปในทางที่ผิด 

ผู้สื่อข่าวร่วมพูดคุยกับ บุคคลที่ลงพื้นที่ศึกษาคลุกคลีกับเด็กแว้นอย่างทั่วถึงจริงจัง ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ อาจารย์ท่านนี้ มองช่องโหว่ในแง่ของสถาบันครอบครัวว่า เด็กแว้นเป็นปัญหาระดับโครงสร้างของสังคม มิใช่ระดับบุคคล เพราะฉะนั้น การผลักภาระไปยังพ่อแม่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหา และไม่เห็นด้วยที่จะเพ่งโทษไปยังผู้ปกครองเพราะบางส่วนก็เป็นพ่อแม่ที่ยัง ไม่มีความพร้อม หรือมีประสิทธิภาพพอ นอกจากนั้น เด็กแว้นไม่ได้มีเพียงแต่ลูกพ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ แต่ในความเป็นจริงยังมีลูกอัยการ ผู้ว่าฯ นายตำรวจ และครู แสดงให้เห็นว่าเด็กแว้นไม่ใช่มีแต่คนที่ไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไข คือ วิธีการในการเลี้ยงดูลูก วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเป็นจุดอ่อนในสถาบันครอบครัวไทย

ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวต่อว่า หากจะถามหาคนรับผิดชอบหรือดูแล ควรจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจากเป็นหน่วยงานตรงที่ดูแลเรื่องความเข้มแข็งของครอบครัว ที่ควรจะผลิตงานวิจัย กำหนดมาตรการที่จะสร้างความเข้มแข็งและปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมลูกเมื่อมีแนวโน้มเบี่ยงเบน พ่อแม่ทุกคนรักลูก จนอาจเรียกได้ว่า ตามใจลูกเกินไป นักจิตวิทยามองว่า เป็นความอ่อนแอของพ่อแม่ที่ไม่สามารถใช้อำนาจที่จะยับยั้ง ห้ามปรามได้ แต่ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่รู้เทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างหาก

ทว่า จะไปฝากความหวังกับกระทรวงใหม่ก็ดูเหมือนจะคาดหวังเกินไป ฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรมีบทบาท เนื่องจากเป็นกระทรวงที่มีมานานและถือเป็นแหล่งขุมกำลังอาวุธทางปัญญาที่ ต้องสนับสนุนให้ข้อมูลให้ความรู้ เสริมพลังการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ในขณะเดียวกันเมื่อเด็กหลุดจากครอบครัว โรงเรียนซึ่งมีครู ที่ชำนาญด้านการศึกษา ต้องมีบทบาทในการเป็นช่างปั้นหม้อ มีส่วนในการดูแลเด็ก เมื่อเขาเริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือเริ่มมีพฤติกรรมที่สร้างอัตลักษณ์ในเชิงลบ

ส่วนการใช้มาตรการปราบปรามหรือย้ายตำรวจ ควรมองก่อนว่า ก่อนจะถึงมือตำรวจนั้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ นายก อบต. ใช้หลักรัฐศาสตร์ หลักการปกครองที่จะพัฒนาแก้ไข เพิ่มพื้นที่ให้กับลูกหลานในชุมชน ซึ่งถือเป็นฐานคะแนนของพวกเขาทั้งสิ้นแล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้น ควรจะมีการปรับบทบาทหรือวิธีการ ก่อนจะพึ่งหนทางสุดท้าย นั่นคือการรับโทษทางกฎหมาย อีกทั้งตำรวจต้องยอมรับความจริง ว่าตนก็ไม่สามารถมาตั้งด่านตรวจจับแบบนี้ได้ตลอด เพราะยังต้องมีคดีอื่นรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบมาให้น้ำหนักที่ปลายทางที่เกิดขึ้นมา เป็นทศวรรษ ด้วยการกล่าวอ้างว่า แก้ที่ต้นทางใช้เวลานาน อาจารย์ปนัดดาเห็นว่า แต่หากเริ่มแก้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ป่านนี้ก็ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว และบอกในฐานะของครูคนหนึ่งว่า จุดที่ล้มเหลวที่สุดในกระบวนการนี้ คือ กระทรวงศึกษาธิการ.

...ในยุคปราบปรามเด็กแว้นอย่าง จริงจัง จะมีผู้ใดสามารถเปลี่ยนเด็กกวนเมืองให้กลายเป็นวีรบุรุษได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์...

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/506799