ชำแหละ!! หมวกกันน็อคแบบไหน ใส่แล้วไม่โดนพี่จ่าโบก | กันน็อค

ทีมา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1432725419

 


“หมวกกันน็อคผมดีมีมาตรฐาน ซื้อจากต่างประเทศ ราคาหลายหมื่นคุณมาบอกว่าของผมผิดกฎหมายเพราะไม่ผ่าน มอก . (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ทั้งๆที่ มาตรฐาน DOT, SNELL 2000, E 2205, JIST8133:2000 เขายอมรับกันทั่วโลก”

จากข้อความนี้ทำให้ประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ และสวมหมวกกันน็อค ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ลบ และแง่บวก ว่าสุดท้ายแล้วหมวกแบบไหนที่คุณใส่แล้วไม่ถูกจับ

จากเหตุการณ์นี้ "มติชนออนไลน์" ได้สอบถามเพื่อไขข้อข้องใจต่างๆ จาก พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ว่า หมวกกันน็อคที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ในมุมของตำรวจ พ.ต.อ.เอกรักษ์ เปิดเผยว่า หมวกกันน็อคที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้น มี 3 แบบ คือ ปิดเต็มหน้า เต็มใบ ครึ่งใบ โดยให้ยึดตามกฎกระทรวงคมนาคม ปี 2535 และตาม พ.ร.บ.ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2539 ซึ่งจะมีข้อความถูกตีความไปต่างๆ นานา คือ “ในกรณีที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับหมวกนิรภัยแบบใดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว หมวกนิรภัยที่จะใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม”

สำหรับหมวกกันน็อคที่ตำรวจจราจรเห็นแล้วจะไม่จับง่ายๆถูกต้องตามกฎกระทรวงผ่านมาตรฐานมอก. แต่ถ้าเป็นหมวกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ราคาหลายหมื่นบาทนั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับแต่ไม่มีสติ๊กเกอร์ มอก. ตำรวจก็ไม่จับ แต่ขอให้มี วิลชิลด์หรือบังลมเป็นสีขาว หรือสีชา ก็พออนุโลมได้ แต่ถ้าเป็นฉาบปรอทหรือสีดำผิดกฎหมายแน่นอน เพราะกฎหมายของกระทรวง และ มอก.เห็นตรงกัน คือ กำหนดให้วิลชิลด์ โปร่งแสง หรือสีขาว ส่วนเรื่อง ซันการ์ด (เเว่นกันแดดด้านใน) จะเป็นสีอะไร ไม่ผิดกฎหมายแน่นอนเพราะมันมีไว้บังแสง ขอแค่มีวิลชิลด์หรือบังลมโปร่งใสตำรวจก็จะไม่โบกคุณ

“คืออย่างนี้ครับตำรวจจราจรต้องการเพียงแค่ให้ทุกท่านที่ขับขี่จักรยานยนต์บนถนนปลอดภัยถ้าจะปลอดภัยต้องมีหมวกนิรภัยป้องกันศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุแล้วล้มหรือศีรษะไปกระแทกอะไร เราเป็นห่วงชีวิตของท่าน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดคุณมีหมวกนิรภัยเนี่ย ตำรวจจราจรโอเค แต่มีข้อแม้อย่างเดียวว่า แบบที่เขากำหนดบังลมมันต้องใส เราขอแค่นี้ แต่ว่าในส่วนของมาตรฐานมีหน่วยงานที่เขารับผิดชอบ และมันเป็นกฎหมายที่แยกต่างหาก ตำรวจไม่ถึงขั้นต้องเอาหมวกกันน็อคมาตะแคงดูหา มอก. ขอเรียนตามตรงมันไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ” พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการต่อเติมหมวก อาทิ ติดกล้องโกโปร ต่อเติมหู หนวด ใดๆ ให้หมวก หากไม่ผิดกฎกระทรวงก็ถือว่าไม่ผิด นั่นคือการต่อเติมใดๆนั้น ต้องไม่รบกวนการใช้ เช่น ติดในจุดที่ต้องใช้ในการมองหรือบดบังทัศนวิสัยการมอง และหมวกต้องป้องกันศีรษะ

จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร. ได้ทำหนังสือส่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 58 เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคสินค้า และเกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ทำให้ประชาชนสับสนเกี่ยวกับหมวกกันน็อคที่วางขายตามท้องตลาดและอ้างว่าได้มาตรฐาน มอก. เพราะพบว่า ผู้ผลิตบางรายจำหน่ายหมวกกันน็อคที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่กลับมีสัญลักษณ์ของ มอก. ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องไปร่วมกันแก้ไข หรือเอาผิดกับผู้ผลิต ไม่ใช่หน้าที่ตำรวจจราจร ตำรวจจราจรมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ พ.ต.อ.เอกรักษ์ ยังฝากถึงประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ ว่า หากติดใจ หรือไม่เข้าใจการวินิจฉัยคดีของตำรวจจราจร สามารถถ่ายเอกสารใบสั่ง ที่ระบุ ข้อกล่าวหานั้นๆ ส่งมายังกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อให้ตำรวจจราจรส่วนกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงได้