จาก "โมโตจีพี" สู่ "เอเชีย โรด เรซซิ่ง" บทพิสูจน์การเติบโตมอเตอร์สปอร์ตไทย |

ก่อนจะไปถึงเดือนตุลาคม มีหลายอีเวนต์ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "กีฬามอเตอร์สปอร์ต" จะนำพาประเทศไทยก้าวขึ้นสู่เวทีสากลในด้านกีฬามากขึ้นตามลำดับ แถมยังพ่วงด้วยระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการเติบโตของโครงการกีฬามอเตอร์สปอร์ตในบ้านเรานั่นเอง
 
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวไทยได้สัมผัสบรรยากาศของ โมโตจีพี กันเป็นครั้งแรกในการทดสอบอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของ โมโตจีพี 2018 ในช่วงวินเทอร์เทสต์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เราได้เห็นการทำงานของระดับโลกทั้งนักบิดอย่าง วาเลนติโน รอสซี่, มาร์ค มาร์เกซ, ฮอร์เก ลอเรนโซ, มาเวริค บีญาเลส และ อันเดรีย โดวิซิโอโซ รวมถึงนักบิดระดับพระกาฬคนอื่นๆ อีกกว่า 20 ชีวิต กับการลงทดสอบร่วมกับทีม
 
แม้จะเป็นเพียงการทดสอบ แต่ได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แฟนๆ กว่า 50,000 คน จากทั่วประเทศเดินทางเข้าชมการทดสอบ (ถ้าถึงตอนแข่งจริงน่าจะมากกว่าราว 3 เท่าตัว) เมืองบุรีรัมย์ และอำเภอรอบข้างคึกคักอย่างมาก เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไม่ขาดสาย
 
มีคำถามว่า “โมโตจีพี” จะช่วยให้วงการมอเตอร์สปอร์ตพัฒนาขึ้นได้อย่างไร?​ เพราะดูเหมือนไกลตัวและเราขาวไทยอาจทำได้ดีที่สุดแค่เพียงนั่งชมทางจอทีวี หรือซื้อบัตรเข้าชมเท่านั้น... 
 
คำถามนี้มันมีคำตอบในตัว เพราะที่ผ่านมาไทยเรามีนักบิดหลายคนโลดแล่นในระดับเวิลด์กรังด์ปรีซ์ นับตั้งแต่ “ฟิล์ม” รัฐภาคย์​ วิไลโรจน์ จาก ฮอนด้า กับประสบการณ์กว่า 10 ปีในคลาสมิดเดิ้ลเวท (250 ซี.ซี. และ โมโตทู),​ “ติ๊งโน๊ต”​ ฐิติพงศ์ วโรกร ในโมโตทู (จาก ฮอนด้า ในขณะนั้น) รวมถึงการลงแข่งด้วยสิทธิ์ไวด์การ์ดของ “ตั้น” เดชา ไกรศาสตร์ จาก ยามาฮ่า และนักบิดไทยคนอื่นๆ
 
ล่าสุดในปี 2017 “ชิพ” นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร์ สังกัด ฮอนด้า ทีม เอเชีย ขยับขึ้นไปสู่คลาสเล็กของเวิลด์กรังด์ปรีซ์อย่าง โมโตทรี และปีนี้คือปีที่ 2 ของเขาในการพิสูจน์ตัวเองในระดับโลก นอกจากนี้ยังมี “แสตมป์” อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์ จาก วีอาร์46 มาสเตอร์ แคมป์ ทีม และ “ก้อง” สมเกียรติ จันทรา จาก เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ที่ลงแข่งขันในศึกจักรยานยนต์ทางเรียบที่เฟ้นหาดาวรุ่งระดับโลกรายการ ซีอีวี โมโตทรี จูเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แถมทั้ง 2 คนนี้ ถูกจับตามองจากทีมว่าจะเป็นรายต่อไปที่จะได้ขยับสู่ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ เสียด้วย
 
หากสังเกตุจากรายชื่อนักแข่งไทยที่ปรากฏในลิสต์ด้านบนนี้ จะเห็นได้ว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการแข่งขันระดับทวีปเอเชียแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะในรายการ เอเชีย โรด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งนักบิดและทีมไทยทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ยกเว้นเพียง รัฐภาคย์ ที่ผ่านการแข่งขัน ออล เจแปน โรด เรซซิ่ง ในญี่ปุ่น
 
อย่างไรก็ดี ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ในเวที เอเชีย โรด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ จะเริ่มโหดและหินขึ้น และผลงานของนักกีฬาไทยก็ไม่ค่อยจะโดดเด่นสักเท่าไรนัก จนกระทั่งการเกิดขึ้นของ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อปลายปี 2014 และเป็นปีเดียวกันในรอบ 18 ปี ที่ไทยเราได้กลับมาจัดการแข่งขัน เอเชีย โรด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ อีกครั้ง
 
“บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ประธาน สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประกาศไว้ว่าภายใน 5 ปีหลังเปิดใช้งาน สนามช้างฯ เด็กไทยและทีมไทยจะกลับมาสู่แถวหน้าของเอเชียได้อีกครั้ง ทว่าวันนี้เพียงเข้าสู่ต้นปีที่ 4 เราก็ได้เห็นสัญญาณที่ดีแล้วว่า บรรดานักบิดไทยจะสามารถกลับมายืนในแถวหน้าของเอเชียได้อีกครั้งแน่นอน
 
สำหรับ การแข่งขันเอเชีย โรด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2018 สนามที่ 1 ที่ผ่านมา การคว้าแชมป์ของ “ตี”​ อนภุาพ ซามูล จาก ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม ในรุ่น เอเชีย โปรดักชั่น 250 ซี.ซี. และ “มุกข์”​ มุกข์ลดา สารพืช นักบิดสาวจาก เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ซึ่งกลายเป็นนักบิดสาวรายแรกที่เอาชนะนักแข่งชายคว้าแชมป์ในรายการนี้ 
 
นอกจากนี้ ในรุ่น ซูเปอร์สปอร์ต 600 ซี.ซี. “ติ๊งโน๊ต” ฐิติพงศ์ วโรกร จาก คอร์ คาวาซากิ ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม ก็สามารถคว้าชัยชนะมาครอง 1 เรซ รวมถึงโพเดี้ยมอันดับ 2 ของ “ตั้น” เดชา ไกรศาสตร์ และฟอร์มกระฉูดหลังย้ายซบ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีมของ “โฟลท” รัฐพงษ์​ วิไลโรจน์ แม้จะโดนนักบิดมาเลเซียชนล้มกระชากโอกาสขึ้นโพเดี้ยมก็ตาม
 
ปัจจัยของการพัฒนาเหล่านี้มาจากความมุ่งมั่นของทีมแข่งไทย ทั้ง เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์,​ ยามาฮ่า ไทยแลนด์​ เรซซิ่ง ทีม และ คอร์ คาวาซากิ ไทยแลนด์​ เรซซิ่ง ทีม มีจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจให้พาทีมของคนไทย พานักแข่งไทยไปสู่การแข่งขันระดับโลกทั้งในรายการ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ที่มี 3 รุ่น อย่าง โมโตจีพี, โมโตทู และ โมโตทรี รวมถึงศึก เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ ทั้งในรุ่น ซูเปอร์ไบค์ และ ซูเปอร์สปอร์ต 
 
ความสำเร็จในวันนี้จากสนามแรกของ เอเชีย โรด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2018 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีระบบที่ถูกต้อง วางรากฐานได้ถูกทางเพื่อปูเส้นทางไปสู่ระดับเวิลด์คลาส นี่คือทิศทางที่ดี และสัญญาณในแง่บวกที่เราจะได้เห็นนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จมากขึ้น ในการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก
 
ติดตามข่าวสารวงการมอไซค์ : http://www.mocyc.com
Page Facebook : http://www.facebook.com/MocycThailand