ทำให้แรง แปลงให้เป็น

ทำให้แรง แปลงให้เป็น
ฉบับที่
396 ปรับปรุงข้อมูลวันที่ : 20/5/2547 16:14:42
คอลัมน์
Classic Bike  
เรื่อง
AJS (Alongkorn James Sriwang) 
ภาพ
AJS (Alongkorn James Sriwang)

   น้ามอร์..."จอมโปรเจ็ค" คนเดิมที่มักคลอดผลงานเด็ดๆ ออกมาให้ได้ยลกัน...สม่ำ...เสมอ..."แลมหน้าดิสก์" งานคันมือผลงานล่าสุด ที่เด่นเข้าตาพร้อมโชว์หลังหอบหิ้วกันไป "รันอิน" ไกลถึง เมืองนอก เมืองนา..."ทองเขียว" สรรพนามต้นเหตุที่ถูกจับเข้าสนามตามคำบอกเล่า เครื่องแรง เบรกชัวร์ "คอนเซ็พท์" สนทนาที่สาธยายเล่าสู่ หลังจับมือกัน "กระหน่ำ" จน "หนำใจ" ทั้ง คนทำ คนเขียน ก่อนจบด้วยบทสรุปเป็นภาษาที่เรียบง่ายเรียงร้อยจน...ได้ความ...ว่า...!?!?!

BODY/FRAME
   ยังคงพื้นฐานตามแบบโรงงานที่พอจะรื้อค้นความเป็นมาได้ว่า รถ Lambretta G.P. (D.L.) ได้รับการออกแบบโดย Bertone เพื่อนำมาแทนที่รุ่น Li 125 Special, SX150 และ SX 200 รถรุ่นนี้ผลิตออกมาทั้งหมด 3 ขนาด คือ 125 cc. 150 cc. และ 200 cc. ซึ่งมีการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน เช่น เปลี่ยน porting และติดตั้ง crankshaft ใหม่ โดยใช้มู่เล่ (flywheel) ให้มีขนาดหนาขึ้น ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์มีกำลังรอบสูงขึ้น สำหรับส่วนอื่นที่มีการโมดิฟาย ได้แก่ คลัชต์, คันสตาร์ท และ คาร์บูเรเตอร์ ขนาด 22 mm. และสำหรับออปชั่นภายนอกมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ติดตั้งไฟหน้าทรงสี่เหลี่ยม, head stock ทำให้สั้นลง, เดินขอบรอบบังโคลนที่ได้รับการออกแบบใหม่ เปลี่ยนไฟท้ายและเพิ่ม speed strips ตรงฝากระโปรงด้านข้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็นี้ก็เพื่อทำให้รถมีความเป็นสปอร์ตมากขึ้น โดยมีสัญลักษณ์ประจำรุ่นเป็น "หยดหมึกสีดำ" ยกเว้นตัวขายในอังกฤษที่ใช้รูป "ธงตาหมากรุก" และการผลิตโมเดลนี้ก็ผลิตต่อเนื่องไม่นานนัก ก่อนยุติการผลิตในเดือนเมษายน 1971 ซึ่งรถขนาด 125 cc. ผลิตได้ 15,300 คัน, ขนาด 150 cc. ผลิตได้ 20,048 คัน และรถขนาด 200 cc. ผลิตได้ 9,350 คัน

ENGINE/TRANSMISSION
   สำหรับเครื่องยนต์เดิมขนาด 198 ซี.ซี. ที่มีกำลังที่ 11.7 แรงม้า ที่ 6,200 รอบ/นาที ถูกปรับแต่งขึ้นใหม่จากพื้นฐานความเป็นไปได้และประสบการณ์ที่สั่งสม ไส้ในที่ถูกอัพเกรดด้วยลูกสูบของ SUZUKI TS250 บนก้านสูบของรถบ้านอย่าง NSR150 และเมื่อ "ก้าน" ถูก "ยืด" ปัญหาปวดหัวเรื่องตีนก้านที่ใหญ่เกิน จนไปเสียดสีที่ห้องข้อเหวี่ยงก็เกิดขึ้น ทางแก้ด้วยการปาดห้องข้อเหวี่ยงจึงถูกทำตามมาหวังขจัดปัญหา ทว่า เนื้อโลหะที่หายไปกลับเกิดช่องว่าง พลอยให้ลดทอนแรงอัดให้ลดน้อยถอยลงไปซะเฉยๆ (แรงอัดรั่ว) และหลังจากปรึกษาหารือกับเซียนโมฯ รุ่นเก๋าอย่าง "เฮียดิ่ง" คำแนะนำให้ตีปลอกเพิ่มเนื้อที่ลงไปที่ flywheel ทั้ง 2 ข้างจนเต็มตามตำแหน่งเดิมของห้องข้อเหวี่ยง ซึ่งก็ได้ผลงานออกมาตามที่ต้องการ ที่ 230 ซี.ซี. และได้แรงม้าที่เพิ่มเป็น 14.5 แรงม้า...และเมื่อ ซี.ซี. ที่เพิ่มขึ้น ตัวจ่ายน้ำมันขนาด 22 ม.ม. จึงถูกปรับแทนที่ด้วย Dellorto 32 ม.ม. ที่ทำการการปรับแต่งคอไอดีเดิมด้วยการเพิ่มขนาดด้วยไฟเบอร์กลาสให้ใหญ่รับกัน ส่วนหรีดวาล์วปรับเปลี่ยนมาใช้ของรถบ้าน NSR150 จึงลงตัว...สำหรับชุดเกียร์เดิมที คันนี้ใช้ของชุดเกียร์ของ SX200 ที่เน้นการให้อัตราเร่งในทางยาวสำหรับเดินทางไกลเสียมากกว่า แต่หลังปรับแต่งเครื่องยนต์ เรื่องรอบเครื่องและอัตราเร่งที่พอใจที่สุดตอนนี้กลัลลงตัวที่ชุดเกียร์จาก Li150 III ที่ใช้สเตอร์หน้าขนาด 15 ฟัน ส่วนหลังใช้ขนาด 46 ฟัน

DISC BRAKE
   ตามที่เข้าใจว่า DL200 นั้นติดตั้งระบบดิสก์เบรกมาตั้งแต่ออกห้าง แต่ต่างที่รถโรงงานนั้นเป็น "ดิสก์สาย" กดจาน ความสงสัยที่ว่า "รถฝรั่ง" นั้นเขาเล่นเป็นดิสกก์น้ำมันกันมาตั้งแต่ ปี'80 ยังคงฝังหัว...ตำราฝรั่งและภาพต้นแบบที่เซอร์สจาก Net. ถูกนำมาศึกษาตามแบบ "พี่ไทย" ได้ลองกระหน่ำ ชุดประกับเร่งบนถูกสร้างถอดแบบของเดิม และปรับแต่งให้รับกับชุดปั๊ม

   กระปุกเหลี่ยมที่ลงตัวที่รถเล็กสัญชาติปลาดิบ ส่วนชุดล่างนั้นลงตัวที่ Nova Dash ที่ต้องกลึงชุดเสื้อสูบมารับกับตัวลูกสูบเดิม ก่อนติดตั้งสายถักน้ำมันเบรกแทนที่ เซ็ทเข้าตำแหน่ง จัดองศา แล้วทำการไล่เบรกให้ใช้งานได้อย่างที่ดีต้องการ...และไม่ลืมแถมด้วยท่อแฮนเมดฝีมือจาก "ช่างฮัว" เมืองชลฯ ที่ขึ้นรูปถอดแบบตามพิมพ์เขียวออกมาได้เนี๊ยบไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งก็เซฟสนนราคาค่าตีไปได้เกือบ "หมื่น" หากเทียบกับของอิมพอร์ทจากเมืองฝาหรั่ง...ก่อน...ทำการทดสอบเครื่องยนต์และระบบต่างๆ ในช่วง "รันอิน" แบบเต็มๆ...ไกลถึง...เวียงจันทร์...!?!?!